ไข้ไรอ่อน/โรคสครับไทฟัส

 

   

สครับไทฟัส

     เป็นไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) ชนิดหนึ่งทำให้มีอาการไข้สูง อาจมีผื่นแดงและสะเก็ดผลไหม้ เกิดจากการติดเชื้อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีตัวไรแดง (อยู่ตามพุ่มไม้) เป็นพาหะนำโรค มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร นักวิทยาศาสตร์ และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า หากไม่ได้รับการรักษา มักมีไข้นาน 2-3 สัปดาห์ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

ชื่อภาษาไทย

     สครัปไทฟัส, ไข้แมงแดง

ชื่อภาษาอังกฤษ

    Scrub Typhus

สาเหตุ

     เกิดจากเชื้อริกเกตเซีย ที่มีชื่อว่า โอเรียนเทียซูซูกามิซิ (Orientia tsutsugamushi ซึ่งเดิมเรียกว่า Rickettsiasutsugamushi หรือ Rickettsia orientalis) โดยมีไรอ่อน (chigger หรือ laval-stage trombiculid mites) เป็นพาหะนำโรค ระยะฟักตัว 4-18 วัน

     ตัวไรแก่อาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนที่มี 6 ขาและมีสีแดง ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์แทะ นก หรือผู้ที่เดินผ่านไปมาเพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร

     ถ้าคนหรือสัตว์มีเชื้อริกเกตเซียชนิดนี้อยู่ เชื้อก็จะเข้าไปอยู่ในลำไส้และต่อมน้ำลายของไรอ่อน แล้วเจริญแบ่งตัวในขณะที่ไรอ่อนกลายเป็นตัวแก่

     ตัวแก่เมื่อวางไข่ก็จะมีเชื้อโรคแพร่ติดอยู่ เมื่อฟักเป็นไรอ่อน ก็จะเป็นไรอ่อนที่มีเชื้อโรค เมื่อไปกัดคนหรือสัตว์ก็จะแพร่เชื้อให้คนหรือสัตว์นั้นต่อไป

     ในบ้านเราสัตว์ที่เป็นรังโรค (มีเชื้อโรคในร่างกาย) คือ หนูเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยอาจพบในกระแต และกระจ้อน สัตว์ที่เป็นรังโรคและไรอ่อนที่เป็นพาหะนำโรค อาจอยู่ตามพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้าคา ไร่พริก สวนยาง พุ่มไม้เตี้ยๆ และป่าสูง ซึ่งมีอยู่แทบทุกภาคของประเทศ

อาการ

    หลังถูกไรอ่อนกัด 4-18 วัน จะมีอาการปวดศรีษะที่ขมับและหน้าผาก และจับไข้หนาวสั่น ไข้สูงตลอดเวลา (ไข้อาจเป็นอยู่นาน 2-3 สัปดาห์) หน้าแดง ตาแดง และกลัวแสง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องผูก

     บริเวณที่ถูกกัดจะเจ็บ และมีรอยไหม้ดำเหมือนถูกบุหรี่จี้ (สะเก็ดแผลไหม้) รอบๆ แผลจะมีอาการบวมแดงแต่ไม่เจ็บ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. และเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะพบที่รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆ จะโตและเจ็บด้วย

การแยกโรค

    อาการไข้สูง หนาวสั่น มีไข้นาน 2-3 สัปดาห์ อาจเกิดจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่พบได้บ่อยในบ้านเรา เช่น

  • มาลาเลีย ผู้ป่วยมักมีประวัติอยู่ในเขตป่าเขา หรือเดินทางเข้าไปในป่าเขา จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศรีษะและปวดเมื่อยมาก แต่จะไม่พบสะเก็ดแผลไหม้
  • ไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา นาน 2-3 สัปดาห์ อาจมีอาการปวดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก (มักพบในผู้ใหญ่) หรือถ่ายเหลว (มักพบในเด็ก) ร่วมด้วย
  • เล็ปโตสไปโรซิส (ไข่ฉี่หนู) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ตาแดง ตาเหลือง (ดีซ่าน) ปวดน่อง มักพบในกลุ่มคนที่ย่ำน้ำหรือลงแช่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • ไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีจุดแดงจ้ำ เขียวขึ้นตามตัว
  • หัด ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง เป็นหวัด ไอ คล้ายไข้หวัด มีผื่นแดงขึ้นวันที่ 4 ของไข้

การวินิจฉัย

    แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติอาชีพ (ชาวไร่ ชาวสวน) การเดินทางไปตั้งค่ายในป่า และตรวจพบสะเก็ดแผลไหม้ซึ่งจะพบเพียง 1 แห่ง มักพบที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น หรืออวัยวะเพศ (ใต้อัณฑะ)

     หากพบสะเก็ดแผลไหม้ ก็มักจะให้การวินิจฉัยได้ แต่จะได้พบเพียงร้อยละ 50 ของผู้ที่เป็นโรคนี้

     นอกจากนี้อาจทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่นๆ

การดูแลตนเอง

     ผู้ที่เป็นไข้สูงตลอดเวลา ไข้หนาวสั่น หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ และมีประวัติว่าอยู่ในถิ่นที่พบโรคนี้ หรือกลับจากการเดินทางไปตั้งค่ายในป่า หรือตรวจสะเก็ดแผลไหม้ตามผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

     ถ้าตรวจพบว่าเป็นสครับไทฟัส ควรจะกินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน และไปติดตามผลการรักษาตามที่แพทยฺ์นัด

การรักษา

     แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฎิชีวนะ เช่น ดอกซีไซคลีน (doxycycline) หรือเตตราไซคลีน (tetracycline) นาน 3 วัน ไรแฟมพิซิน (rifampicin) นาน 7 วัน หรือ อะซิโทรไมซิน (azithromycin) ครั้งเดียว

     ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น หอบ หัวใจวาย ไตวาย ช็อก หรือหมดสติ จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

ภาวะแทรกซ้อน

     ในรายที่เป็นรุนแรง อาจถ่ายอุจจาระดำ เพ้อคลั่ง หมดสติ หัวใจวาย (กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ) สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) ไตวายเฉียบพลัน หรือภาวะช๊อกจากโลหิตเป็นพิษ

การดำเนินโรค

    โรคนี้เมื่อได้รับการรักษา ไข้มักจะลดลงภายใน 24-72 ชั่วโมง และจะหายขาดโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา บางรายอาจหายได้เอง โดยมีไข้อยู่นาน 2-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกัน

     1.ถ้าจะออกไปตั้งค่ายในป่า พยายามอย่าเข้าไปในพุ่มไม้ บริเวณที่ตั้งค่ายควรถางให้โล่งเตียน ควรพ่นยาฆ่าไรบนพื้นดิน และไม่ควรนั่งหรือนอนอยู่กับที่นานๆ ควรใส่เสื้อผ้ารัดกุมและทายาป้องกัน

     2.กินยาป้องกันโดยกินดอกซีไซคลีน 200 มก. สัปดาห์ละครั้ง ระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโรคนี้อยู่ โดยเริ่มกินครั้งแรกก่อนเดินทาง 3 วัน และกินต่อจนกระทั่ง 6 สัปดาห์หลังเดินทางกลับออกมาแล้ว

ความชุก

     โรคนี้พบบ่อยในพื้นที่ชนบทและป่าเขา มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ ประมาณปีละ 3,000-4,000 ราย พบได้ทุกภาคของประเทศ 2554

ที่มา : นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 383

 จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคสครับไทฟัส    

             โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม - 16 พฤศจิกายน 2557  ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 8,000 ราย                                                                                                                                                                                                                                                                                                     โดยเสียชีวิต5ราย ผู้ป่วยเกือบร้อยละ 90 อาศัยในเขตชนบทและป่าเขา โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายได้

ที่มาข่าว:นสพ.แนวหน้า มติชน เว็บไซต์ กรมประชาสัมพันธ์
ที่มาภาพ:Internet

 

 นำเข้าเครื่องพ่น, จำหน่ายเครื่องพ่น, ขายเครื่องพ่น, ราคาเครื่องพ่น, ราคาเครื่องพ่นละอองฝอย, จำหน่ายเครื่องพ่นละอองฝอย, ขายเครื่องพ่นละอองฝอย, เครื่องพ่นยุง, เครื่องพ่นเห็บ,  เครื่องพ่นยา, เครื่องฉีดยุง, เครื่องฉีดแมลง, เครื่องมือการเกษตร, กำจัดแมลง, ฆ่าเชื้อโรครีสอร์ท, กำจัดพาหะนำโรคที่พัก, ฆ่าเชื้อโรคแรม, ที่พักรีสอร์ท, เครื่องพ่นฆ่าเชื้อ, ขายเครื่องฆ่าเชื้อโรค, ราคาคาเครื่องฆ่าเชื้อโรค, โรคระบาดหน้าหนาว

 

Visitors: 156,153